สภาพสังคมในสมัยราชวงศ์หมิง

           ด้วยอิทธิพลจากปรัชญาลัทธิขงจื่อ(儒家)ซึ่งได้รับการเชิดชูเป็นปรัชญาประจำชาติจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น และอิทธิพลของลัทธิขงจื่อใหม่ (理学) ที่มีต่อสังคมจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา ทำให้หลักแนวคิดทั้งสองนี้กลายเป็นเสาหลักสำคัญของสังคมจีน ด้วยอิทธิพลจากหลักปรัชญาทั้งสองนี้ ทำให้สังคมจีนมีลักษณะแบบสังคมระบบครอบครัว ให้ความสำคัญกับหลักความสัมพันธ์ทั้งห้า อันประกอบด้วย กษัตริย์กับขุนนาง บิดากับบุตร สามีกับภรรยา พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน โดยถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตร เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทั้งปวง และด้วยอิทธิพลของลัทธิขงจื่อใหม่ ทำให้สถาบันครอบครัวยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีการตรากฎประจำตระกูล ซึ่งเป็นกฎที่คนในตระกูลทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตาม มีการรวมกลุ่มญาติพี่น้องที่มีแซ่เดียวกันอาศัยอยู่ด้วยกัน กลายเป็นหมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมการบูชาบรรพบุรุษ เป็นสังคมที่ยกย่องผู้ชายเป็นใหญ่

          นอกจากนี้ ด้วยอิทธิพลของแนวคิดลัทธิขงจื่อ รวมทั้งการที่สังคมจีนเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวนา ผู้ปกครองจึงให้ความสำคัญกับการเกษตรมาแต่โบราณ โดยถือหลักการว่า “เกษตรกรรมคือรากฐานของประเทศ” สังคมจีนจึงมีลักษณะ “ยกย่องชาวนาดูถูกพ่อค้า” แต่ชนชั้นที่สังคมจีนให้การยกย่องที่สุดคือ ชนชั้นบัณฑิต ขุนนาง ผู้ที่สามารถสอบเข้ารับราชการผ่าน ยิ่งได้ระดับสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีชื่อเสียงเท่านั้น

          ในด้านศาสนาและความเชื่อ ศาสนาหลักๆของผู้คนในสังคมจีนในสมัยราชวงศ์หมิง คือ พุทธศาสนานิกายมหายาน กับลัทธิเต๋า ส่วนพวกปัญญาชน บัณฑิต ขุนนาง มักจะยึดถือแนวคิดลัทธิขงจื่อกับปรัชญาเต๋า และค่อนข้างต่อต้านศาสนา เพราะมองว่าเป็นสิ่งงมงาย ไร้สาระ มอมเมาประชาชน และผลาญทรัพยากรของชาติไปโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรต่อรัฐเลย นอกจากนี้ยังมีศาสนาอื่นๆ เช่น อิสลาม คริสต์ อีกด้วย

          ในสมัยราชวงศ์หมิงได้ก่อเกิดนักปรัชญาลัทธิขงจื่อใหม่ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งได้เสนอแนวคิดค้านกับแนวคิดกระแสหลักของลัทธิขงจื่อใหม่ในขณะนั้น คือ หวังหยางหมิง (王阳明) แนวคิดของเขามีอิทธิพลต่อกระแสของปรัชญาจีนและเอเชียตะวันออกเป็นอย่างสูง มาจนถึงปัจจุบัน




(ภาพซ้าย) ชนชั้นบัณฑิตปัญญาชนสมัยราชวงศ์หมิง (ภาพขวา) หวังหยางหมิง ขุนนางและนักปราชญ์ลัทธิขงจื่อใหม่คนสำคัญแห่งยุคราชวงศ์หมิง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น