ศิลปวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์หมิง

        ในสมัยราชวงศ์หมิงถือได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีประเภทนวนิยาย อันเนื่องจากวิวัฒนาการในด้านศิลปะการประพันธ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัย สามในสี่ของ “สี่ยอดวรรณกรรมจีน” คือ ไซอิ๋ว (西游记) สามก๊ก (三国演义) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน (水浒传) ล้วนเขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง นอกจากนี้ศิลปวัฒนธรรมจีนด้านอื่นๆ ก็มีการพัฒนาถึงขั้นสูงสุดในยุคนี้ วัตถุสิ่งของ ศิลปะการแสดงของจีนที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์หมิงทั้งสิ้น

          นอกจากนี้ ในยุคต้นราชวงศ์หมิง ชนชั้นปกครองในราชสำนักมีนโยบายที่จะฟื้นฟู “ของเก่า” โดยเฉพาะเรื่องที่เห็นชัดที่สุดคือ การแต่งกาย เพื่อที่จะลบล้างอิทธิพลของชาวมองโกลในราชวงศ์ก่อน ซึ่งในสายตาของชนชั้นปกครองใหม่มองว่าเป็นสิ่งที่ป่าเถื่อน ไม่เหมาะกับอารยธรรมจีนอันยิ่งใหญ่ จึงได้พยายามรื้อฟื้นการแต่งกายแบบสมัยราชวงศ์ถังกลับมาอีกครั้ง






(ภาพซ้าย) เครื่องทรงของจักรพรรดิสมัยราชวงศ์ถัง (ภาพขวา) เครื่องทรงจักรพรรดิสมัยราชวงศ์หมิง



ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในสมัยราชวงศ์หมิง

          ในช่วงต้นราชวงศ์หมิง ราชสำนักมีนโยบายต่อต้านพวกชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะพวกมองโกลเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเพราะราชวงศ์หมิงได้อำนาจมาด้วยการแย่งชิงจากพวกมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนซึ่งครองอำนาจอยู่ก่อน ราชสำนักหมิงจึงหวั่นเกรงว่าพวกมองโกลจะหวนกลับมาชิงอำนาจคืน ดังนั้นการทำสงครามกับต่างชาติในช่วงต้นราชวงศ์หมิง จึงเป็นการรบกับพวกมองโกลเสียเป็นส่วนใหญ่ การรบกับชนชาติอื่นที่มิใช่มองโกลมีน้อยมาก เช่น การสู้รบกับราชวงศ์เลแห่งเวียดนาม ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ การสู้รบกับเจ้าในอินโดนีเซีย และลังกา ในช่วงที่เจิ้งเหอท่องทะเลตะวันตก ส่วนความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ เป็นไปในลักษณะ “จิ้มก้อง” หรือระบบรัฐบรรณาการ กล่าวคือรัฐใดหากต้องการติดต่อทางการทูตกับจีน จะต้องยอมรับในความเหนือกว่าของอาณาจักรหมิง ด้วยการส่งทูตมาพร้อมกับเครื่องบรรณาการมาถวายต่อจักรพรรดิหมิง เพื่อแสดงความอ่อนน้อมเสียก่อน รัฐบรรณาการที่สำคัญในช่วงต้นราชวงศ์หมิง เช่น โชซอน (เกาหลี) อยุธยา (ไทย) มลายู (มาเลเซีย) เป็นต้น

          ในช่วงกลางราชวงศ์หมิง ประเทศญี่ปุ่นเกิดความวุ่นวายภายใน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเรียกว่า ยุคเซนโกกุ บรรดาพวกซามูไรเดนตายชาวญี่ปุ่นจำนวนมากพากันตั้งตัวเป็นโจรสลัด คอยก่อกวนคุกคามชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีนตลอดเวลา จีนเรียกโจรสลัดพวกนี้ว่า โจรเตี้ย (倭寇) นอกจากนี้ราชวงศ์หมิงยังต้องเผชิญกับการคุกคามจากชนเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือที่เริ่มมีกำลังกล้าแข็งขึ้น ภัยคุกคามตามชายแดนทั้งทางบกและทางทะเลที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ ทำให้ราชสำนักต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรมากมาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินในการแก้ปัญหาความไม่สงบเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์หมิงต้องเสื่อมลง

          ในช่วงปลายราชวงศ์หมิง โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ สามารถรวมประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่ง และกลายเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่น เขาได้ส่งกำลังทหารจำนวนมากมารุกรานเกาหลี ซึ่งเป็นรัฐบรรณาการที่อยู่ใกล้กับพรมแดนจีน โดยมีเป้าหมายแท้จริงคือการรุกรานอาณาจักรหมิง ราชสำนักหมิงทราบเจตนาของฮิเดโยชิดี จึงต้องส่งทหารจำนวนมากไปช่วยราชสำนักโชซอนของเกาหลีสู้รบกับญี่ปุ่น (สงครามครั้งนี้เรียกว่า “สงครามอิมจิน”) จนต้องสิ้นเปลืองทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก ต่อมายังต้องเผชิญกับการคุกคามจากชนเผ่าแมนจูซึ่งเริ่มมีกำลังกล้าแข็งขึ้นในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกับสงครามอิมจิน สงครามที่ต่อเนื่องยาวนาน กับปัญหาสังคมที่หมักหมมอยู่ภายในประเทศมานาน ในที่สุดก็ชักนำให้ราชวงศ์หมิงไปสู่ความล่มสลายภายใต้เงื้อมมือกบฎชาวนาของหลี่จื้อเฉิง (李自成) และความวุ่นวายภายในแผ่นดินจีนในช่วงสิ้นราชวงศ์หมิงก็กลายเป็นโอกาสที่ทำให้กองทัพแมนจูสามารถบุกเข้าด่าน พิชิตแผ่นดินจีน สถาปนาราชวงศ์ชิง (清朝)เหนือแผ่นดินจีนได้สำเร็จ



                             ..............................................................................................

รายพระนามจักรพรรดิราชวงศ์หมิง

พระนาม                                                                                            ปีที่ครองราชย์        

หมิงไท่จู่ (จูหยวนจาง 明太祖朱元璋)                                  ค.ศ.1368 – 1398

หมิงฮุ่ยตี้ (จูอวิ่นเหวิน 明惠帝朱允炆)                                  ค.ศ.1399 – 1402

หมิงเฉิงจู่ (จูตี้ 明成祖朱棣)                                               ค.ศ.1403 – 1424

หมิงเหรินจง (จูเกาชื่อ 明仁宗朱高炽)                                  ค.ศ.1424 – 1425

หมิงเซวียนจง (จูซั่นจี 明宣宗朱瞻基)                                  ค.ศ.1426 – 1435

หมิงอิงจง (จูฉี่เจิ้น 明英宗朱祁镇)                                      ค.ศ.1436 – 1449,

1457 – 1464

หมิงไต้จง (จูฉี่อวี้ 明代宗朱祁钰)                                       ค.ศ.1450 – 1456

หมิงเซี่ยนจง (จูเจี้ยนเซิน 明宪宗朱见深)                              ค.ศ.1465 – 1487

หมิงเซี่ยวจง (จูโย่วถัง 明孝宗朱祐樘)                                 ค.ศ.1488 – 1505

หมิงหวู่จง (จูโฮ่วเจ้า 明武宗朱厚照)                                   ค.ศ.1506 – 1521

หมิงซื่อจง (จูโฮ่วซง 明世宗朱厚熜)                                    ค.ศ.1522 – 1566

หมิงมู่จง (จูไจ่วั่ว 明穆宗朱载垕)                                        ค.ศ.1567 – 1572

หมิงเสินจง (จูอี้จวิน 明神宗朱翊钧)                                    ค.ศ.1573 – 1620

หมิงกวงจง (จูฉางลั่ว 明光宗朱常洛)                                   ค.ศ.1620

หมิงซีจง (จูโหยวเซี่ยว 明熹宗朱由校)                                 ค.ศ.1621 – 1627

หมิงซือจง (จูโหยวเจี่ยน 明思宗朱由检)                               ค.ศ.1628 – 1644





                            。。。。。。。。。。。。。。。。。。。。。




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น