ลักษณะทางการเมืองการปกครองในสมัยราชวงศ์หมิง

               โครงสร้างการบริหารราชการส่วนกลางในสมัยราชวงศ์หมิงโดยพื้นฐานแล้ว ใช้ระบบโครงสร้างที่เรียกว่า “สามสถาบัน หกกระทรวง” (三省六部) อันเป็นระบบที่จัดตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์สุย และมีการปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง (แต่ตัวโครงสร้างหลักไม่มีการเปลี่ยนแปลง) ระบบสามสถาบันหกกระทรวงแสดงออกมาเป็นแผนภาพได้ดังนี้



                ตามโครงสร้างนี้จะประกอบไปด้วย ขุนนางระดับมุขมนตรีสามตำแหน่ง (三省) ประกอบด้วย มุขมนตรีฝ่ายตรวจสอบ (门下省) ราชเลขาธิการ (中书省) และมุขมนตรีฝ่ายบริหาร (尚书省) ตำแหน่งทั้งสามนี้ขึ้นตรงต่อฮ่องเต้ และมีเจ้ากระทรวงทั้งหก (六部) ประกอบด้วย กระทรวงขุนนาง (吏部) กระทรวงการคลัง (户部) กระทรวงพิธีการ (礼部) กระทรวงกลาโหม (兵部) กระทรวงยุติธรรม     (刑部) กระทรวงโยธาธิการ (工部) โดยทั้งหกกระทรวงนี้จะขึ้นการบังคับบัญชาต่อมุขมนตรีฝ่ายบริหาร แต่ในสมัยราชวงศ์หมิงนั้น จักรพรรดิหมิงไท่จู่โปรดให้ยุบตำแหน่งมุขมนตรีฝ่ายบริหารและราชเลขาธิการ ทั้งยังโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี (宰相) อันเป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหาร โดยโปรดให้กระทรวงทั้งหกขึ้นตรงต่อพระองค์โดยตรง ต่อมาในรัชสมัยของจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน (建文) โปรดให้ตั้งตำแหน่งขุนนางที่เรียกว่า 内阁首辅 ทำหน้าที่ราชเลขาธิการ และเป็นผู้ประสานงานกับกระทรวงทั้งหก ตำแหน่งนี้มีมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง

ในส่วนของโครงสร้างการปกครองในส่วนภูมิภาค ในสมัยราชวงศ์หมิงนั้น สามารถแสดงออกมาเป็นแผนภาพได้ดังนี้



           หน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดคือ มณฑล (省) รองจากมณฑลก็คือ จังหวัด (布) กับ เมืองหลวง/นคร (都) ในหนึ่งจังหวัดจะประกอบด้วย เมือง (府 หรือ 州) รองลงไปจากหน่วยการปกครองทั้งสอง และถือเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในส่วนภูมิภาคคือ อำเภอ (县) ส่วนเมืองหลวงหรือนคร จะประกอบไปด้วย เขต (卫 หรือ 守御所) และขั้นต่ำสุดคือ แขวง (所)

            ในส่วนการปกครองท้องถิ่นนั้น ในสมัยราชวงศ์หมิง มีระบบที่เรียกว่า “หลีเจี่ย (里甲)” ซึ่งกำหนดให้ 1 หลี่ (里) = 110 ครัวเรือน = 10 เจี่ย (甲)
1 เจี่ย (甲) = 10 ครัวเรือน
10 เจี่ย (甲) = 100 ครัวเรือน แต่ 1 หลี่ มี 110 ครัวเรือน ซึ่งอีก 10 ครัวเรือนที่เหลือจะถูกจัดเป็น หลีจ่าง      (里长) หรือหมู่บ้านหลัก (ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า ครัวเรือนที่ถูกจัดอยู่ในหลีจ่างจะต้องมีทั้ง "พื้นที่เพาะปลูก" และ "ชายฉกรรจ์" อยู่ในบ้าน) ในแต่ละหลีเจี่ยจะมีการเลือกหัวหน้าขึ้นมาคนหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ปกครองดูแลคนในหลีเจี่ยนั้นๆ และมีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับข้าราชการส่วนภูมิภาค (นายอำเภอ)
ระบบหลีเจี่ยใช้เพื่อการสำรวจสำมะโนประชากร จัดเก็บภาษี เกณฑ์แรงงาน และรักษาความสงบเรียบร้อยในระดับท้องถิ่น

          ในสมัยราชวงศ์หมิงยังมีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาอีกมากมาย เช่น องครักษ์เสื้อทอง (锦衣卫) สำนักตะวันออก (东厂) สำนักตะวันตก (西厂) สำนักใน (内厂) หน่วยงานเหล่านี้จะทำหน้าที่เหมือน “ตำรวจลับ” คอยตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเหล่าขุนนาง ซึ่งหลายครั้งหน่วยงานเหล่านี้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง ทั้งยังมีตำแหน่งผู้ตรวจฎีกา (司礼监) อีกด้วย ระบบบริหารราชการในยุคนี้ถือเป็นยุคที่มีการ “รวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จ” ที่องค์จักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียวได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

          ในส่วนระบบยศตำแหน่งของขุนนางในสมัยราชวงศ์หมิง จะแบ่งออกเป็นเก้าระดับ โดยระดับเก้าเป็นระดับที่ต่ำที่สุด ส่วนระดับหนึ่งเป็นระดับสูงสุด แต่ละช่วงของระดับจะมีสีและลายที่หน้าอกของเครื่องแบบที่ต่างกัน โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งเป็น (ดูภาพประกอบด้านล่าง)

          ระดับ 1-4 จะใช้เครื่องแบบสีแดง (คนกลางภาพ)

          ระดับ 5-7 จะใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน (คนด้านซ้ายของภาพ)

          ระดับ 8-9 จะใช้เครื่องแบบสีเขียว (ดูภาพประกอบด้านล่าง)



                                                        เครื่องแบบขุนนางสมัยราชวงศ์หมิง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น